ประวัติความเป็นมา
จากการศึกษารวบรวมหลักฐานโบราณสถานต่าง ๆ เช่น ป้อมปืน คูเมือง ซากวัดพระพุทธรูปโบราณ รวมทั้ง หมวกประจำตำแหน่ง ปืน และดาบ ซึ่งเป็นของใช้ประจำตัวของเจ้าเมืองตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ จากการบอกเล่าของผู้สืบสกุลเจ้าเมืองเชียงเคี่ยน(เจียงเคื่อน) และจากการศึกษาประวัติเมืองเชียงราย และประวัติเมืองน่าน ทำให้ประมาณการณ์ได้ว่า เมืองเชียงเคี่ยน(เจียงเคื่อน) ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2325-2333 ตรงกับสมัยพญามงคลวรยศ และพญาอัตถวรปัญโญ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ) ซึ่งเมืองน่านมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าผู้ครองนครน่าน เป็น ผู้ปกครองเมือง) ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองน่านมีการแบ่งเจ้าเมืองออกเป็นสองฝ่ายอยู่ คือ ฝ่าย พญา มงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองฝ่ายของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา ฝ่ายพญาอัตวถรปัญโญ (ภายหลัง โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า) ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าเมืองของฝ่าย บุรรัตนอังวะ ตั้งอยู่ที่เมืองเทิง ทั้งนี้ด้วยเหตุเมืองน่านได้ขึ้นต่อกรุงเทพฯ ส่วนพญาอัตถวรปัญโญขึ้นต่อพม่าที่ปกครองเมืองเชียงแสนซึ่งช่วงดังกล่าวพม่ายังมีอำนาจในล้านนาอยู่ บ้านเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นเมืองร้างไร้ผู้คน พญามงคลวรยศได้ครองเมืองน่านอยู่ 4 ปี จึงให้พญาอัตถวรปัญโญ ผู้เป็นหลานได้ครองเมืองสืบต่อ และต่อมา พญาอัตถวรปัญโญได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าอัตถวรปัญโญ ในปี พ.ศ.2333 หลังจากนั้นเจ้าอัตถวร ปัญโญ ได้ดำเนินนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บขี้ข้าใส่เมือง” ร่วมกับเจ้าเมืองเชียงของผู้เป็นพี่ โดยมีการ
อพยพชาวไทลื้อจำนวนมากเข้ามาอยู่เมืองน่านและเมืองต่าง ๆ ที่อยู่เขตปกครองนครน่าน
ช่วงเวลาดังกล่าวนายไชย(พ่อ)พร้อมนายผาบ(บุตรชาย) ได้อพยพครอบครัวและบริวารจากเมืองสิงห์ จำนวน 8 ครอบครัว โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ผ่านมาทางเมืองเชียงคำซึ่งมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของนครน่าน ผ่านเมืองเทิง และลัดเลาะขึ้นตามลำน้ำอิง ผ่านเวียงลดได้เลี้ยวขึ้นตามลำน้ำพุง(แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิง) ผ่านภูเขาที่เป็นแนวเขตแดนเวียงลอ ขึ้นฝั่งที่บริเวณถ้ำผาจรุย(ตำบลป่าแงะ อ. ป่าแดด ในปัจจุบัน) แล้วทำการตั้งบ้านเมืองครั้งแรกอยู่ติดกับแม่น้ำพุงใกล้กับถ้ำผาจรุย ต่อมาได้ออกสำรวจบริเวณพื้นที่โดยรอบ พบว่าพื้นที่ที่อยู่ทางทิศตะวันออกไม่ไกลมีลักษณะชัยภูมิที่เหมาะสมต่อการสร้างเมือง จึงได้อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเชิงดอยด่านและเคลื่อนย้ายอีกครั้งบริเวณลำห้วยอึ่งและห้วยฮ้อมบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อม่อนแดง(เก่า) ในปัจจุบัน ต่อได้มีการสร้างบ้านเรือนรอบบริเวณลำห้วยเชียงเคี่ยน ลำห้วยอึ่ง ส่วนค่ายทหารและค่ายฝึกทหาร ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเชียงเคี่ยนจนถึงหน่วยอนุรักษ์ป่าไม้เชียงเคี่ยน (ปัจจุบัน) มีการตั้งด่านตรวจเก็บส่วยเข้า-ออกเขตเมือง ด่านนอกอยู่บริเวณม่อนพระเจ้า(สวนของนางบัวตองและสวนนายสอน วัฒนา) ด่านใน อยู่บริเวณห้วยจำก้องในปัจจุบัน และได้ตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองเจียงเคื่อน” (ซึ่งเป็นภาษาไทลื้อ หมายถึง เมืองที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายมา) หลังจากได้สถาปนาให้นายไชย เป็นเจ้าเมืองคนแรก ชื่อว่า “พญาไชย” ซึ่งตรงกับสมัยพญา(เจ้า)อัตถวรปัญโญ พ.ศ. 2329-2353 ต่อพญาไชยได้ขอขึ้นต่อนครน่าน เนื่องจากเป็นไทลื้อด้วยกันเมืองเจียงเคื่อนจึงอยู่ในเขตปกครองของนครน่าน และเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างเขตปกครองนครเชียงรายและนครลำพูน โดยมีแม่น้ำพุง และห้วยเอี้ยง เป็นแนวกั้นเขตแดน
เมื่อสิ้นพญาไชย พญาผาบขึ้นเป็นเจ้าเมืองสืบต่อ ซึ่งตรงกับช่วงสมัยพญา(เจ้า)สุมนเทวราช ๒๓๕๓ – ๒๓๖๘, พระมหายศ ๒๓๖๘-๒๓๗๘, พญาอชิตวงศ์ ๒๓๗๙, พญามหาวงศ์ ๒๓๘๑ -๒๓๙๔ จนถึงช่วงต้นสมัยพญา(เจ้า)อนันตยศ ในช่วงที่พญาผาบปกครองเมืองเชียงเคี่ยน บ้านมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากก โดยเฉพาะด้านการทหาร พญาผาบเป็นนักรบที่มีความเก่งกล้าสามารถอย่างยิ่งได้ออกไปรบร่วมกับทัพเมืองน่าน ทัพเมืองเชียงใหม่ ทัพเมืองลำปาง และทัพของกรุงรัตนโกสินทร์อยู่เสมอ เช่น ตีเมืองสิบสองปันนา เชียงรุ้ง เชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน เมืองสาด ปราบกบฏเงี้ยว และการรบกับพม่าในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จนเป็นที่เลื่องลือและยอมรับในความสามารถ ส่วนการทำนุบำรุงเมือง พญาผาบ ได้ให้ขุดคลองผ่านช่องเขาเชื่อมกับลำห้วยแม่ลอยเพื่อให้น้ำแม่ลอยไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงราษฎรในเมืองเชียงเคี่ยน และเรียกคลองน้ำสายใหม่ว่า “ห้วยเจียงเคื่อน” ซึ่งห้วยเจียงเคื่อน ได้กลายเป็นแหล่งน้ำหลักที่ล่อเลี้ยงชีวิตของราษฎรชาวเจียงเคื่อนจวบจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพญาผาบสิ้นบุญ พญาสิงห์บุตรของพญาผาบ ก็เป็นเจ้าเมืองสืบต่อ(ตรงกับสมัยพญา(เจ้า)อนันตยศ พ.ศ. ๒๓๙๕ – ๒๔๓๔ และอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 จนถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ รัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิก ระบบการปกครองระบบเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเมืองประเทศราช เป็นแบบมณฑล แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองเจียงเคื่อน ก็ได้ถูกยกเลิกระบบการปกครองแบบเจ้าเมือง เป็นกำนันตั้งแต่นั้นมา และชื่อเมืองเจียงเคื่อน(ตามภาษาไทยลื้อ) ก็เปลี่ยนเป็น ตำบลเชียงเคี่ยน (ตามภาษาไทยกลาง) โดยนายกา บุตรของพญาสิงห์ เป็นกำนันคนแรก ในช่วงที่ปกครองกำนันกา ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อว่า “วัดไชยผาบ” เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองเชียงเคี่ยน และให้เป็นวัดประจำตระกูลสำหรับพญาสิงห์ มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ นายกา นายถา นายยศ นางหลง และนายอ้น
ลักษณะที่ตั้งเมืองเจียงเคื่อน ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก มีภูเขาล้อมรอบเปรียบเสมือนกำแพงเมือง ส่วนตะวันตกและทิศใต้ มีแม่น้ำล้อมรอบเปรียบเสมือนคูเมือง มีการวางป้อมค่ายและคูเมือง ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกตลอดแนว ปัจจุบันสภาพเมืองเก่ามีซากโบราณสถานและวัตถุสิ่งของที่ยังหลงเหลือให้พบเห็นได้แก่ หมวกเจ้าเมือง ปั้ปสาหรือกฎหมายปกครองเมือง ดาบ ปืน สระน้ำโบราณที่ใช้ฝึกทหาร คูเมือง คันดิน ป้อมปืน วัดและกู่เก่า ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ของทหารประจำป้อมค่ายต่างๆ ซึ่งตั้งแต่เป็นแนวล้อมรอบทุ่งนาที่ใช้แหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรเมือง ไปจนถึงริมฝั่งแม่พุงซึ่งเป็นที่ตั้งโรงบ่มใบยาสูบปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ห้วยพญาไชย ม่อนพระเจ้าซึ่งเป็นตั้งวัดแห่งแรกของเมืองเชียงเคี่ยน ปัจจุบันเป็นถูกไถสวนของนายสอน วัฒนา อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม่อนด่านห้วยฮ้อมเป็นที่ตั้งด่านเมืองเจียงเคื่อน เขตนครน่าน มีการสร้างเจดีย์ 3 องค์ เป็นสัญลักษณ์ 3 พญาคือ พญาไชย พญาผาบ และพญาสิงห์ ปัจจุบันเป็นสวนลำไยของนางศรี (ไม่ทราบนามสกุล) สวนค่ายทหารตั้งอยู่เนินเชิงม่อนปัจจุบันเป็นสวนของ ดาบตำรวจตุ่ม (ชื่อเล่น) แสนโกสินธิ์ และถัดออกไปทิศตะวันตก มีคูเมือง ป้อมปืนตั้งอยู่เชิงเทินหน้าผาซึ่งเป็นลักษณะช่องเขาขาดเป็นช่องทางเดินทัพ ที่สามารถผ่านเข้าสู่เมืองเจียง เคื่อนได้สะดวกที่สุด บริเวณดังกล่าว เรียกว่า “จอก๊อดหอย” (ปัจจุบันเหลือเศษอิฐ คันและคูเมืองบางส่วน เนื่องจากถูกไถเป็นที่ทำกิน) กู่บริเวณหนองร่ม คูเมือง คันดิน และกู่เก่าบริเวณม่อนโต้งเซอ (ทุ่งเซอ) วัดเก่า คันดินและคูเมืองบริเวณม่อนดอยขัดหรือม่อนดอยพระเจ้า (เขตบ้านก้อปัจจุบัน) วัดเก่า และคูเมืองบริเวณจำอ้อ เป็นเรื่อยไปผ่านถ้ำผาจรุย จนถึงแม่น้ำพุงบริเวณโรงบ่มยาสูบในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีป้อมค่ยและท่าน้ำหรือท่าเรือ สำหรับเส้นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองน่าน และเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ด้านในเขตปกครองน่าน และติดต่อกับเขตปกครองนครลำพูน
ส่วนบริเวณด้านในของเมืองเจียงเคื่อน มีค่ายฝึกทหารอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อม่อนแดงที่ตั้งอยู่ติดกับถนนเชียงราย-เทิง และบริเวณหน่วยอนุรักษ์ป่าไม้เชียงเคื่อนปัจจุบัน ซึ่งจะมีสระน้ำโบราณที่ใช้สำหรับฝึกทหารปรากฏให้เห็นอยู่ และมีด่านตรวจ เป็นด่านสำหรับตรวจค้นและเก็บส่วยผู้คนที่สัญจรจากเมืองเทิง เขตปกครองน่าน ที่ตั้งด่านอยู่บริเวณจำฆ้องส่วนค่ายทหารตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนเชียงเคี่ยนในปัจจุบัน ส่วนคุ้มเจ้าเมือง อยู่บริเวณที่ตั้งบ้านของนายสุพัฒน์ หน่อแหวน ปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2554) ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาจังหวัดพะเยา บริเวณบ้านนางเย็นผาบไชย และบ้านนางคำ ภักดี ในขณะที่ปั้บสา (กฎหมายเมืองน่าน) อยู่กับนายชูชาติ วิศิษฏ์ลานนท์ (หน่อแหวน) ดาบประจำตัวเจ้าเมือง (สูบหาย) ปืนหมวกประจำตำแหน่งเจ้าเมือง อยู่กับนายสวน ผาบไชย
ผู้สืบสกุล ชั้นที่ 1 (ลูก) ได้แก่ สกุลผาบไชย สกุลหน่อแหวน และสกุลสิงห์กา
ผู้สืบสกุล ชั้นที่ 2 (หลาน) ได้แก่ สกุลแกล้วกล้า สกุลสายศักดิ์ และสกุลถายะ
วัดประจำตระกูล ได้แก่ วัดไชยผาบ
ภาพถ่าย หมวกประจำตำแหน่งและดาบประจำตัวเจ้าเมือง
ที่มา: 1. คำบอกเล่าผู้สืบสกุลพญาไชย พญาผาบ พญาสิงห์
2. หลักฐานทางโบราณสถาน และอาวุธ หมวกประจำตำแหน่ง ปั้บสา (กฎหมายปกครองเมือง) และโบราณสถานต่างๆ
3. ประวัติเมืองน่าน, ประวัติศาสตร์เมืองน่าน, ตำนานเมืองน่าน
4. ประวัติเมืองเชียงรายยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต
5. ประวัติเชื้อเจ็ดตน
6. พัฒนาการเมืองการปกครองไทย